Posted on 1 Comment

ส้มโอทับทิมสยาม พืช GI ไม้ผลเงินล้าน ชาวปากพนัง Pomelo TubtimSiam

ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม เป็นส้มโอที่พัฒนาโดยเกษตรกร ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันปลูกมากในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลคลองน้อย ตำบลเกาะทวด และตำบลปากพนังฝั่งตะวันตก

นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช (ศวพ. นครศรีธรรมราช) ได้ให้ข้อมูลในผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2558 ของกรมวิชาการเกษตร ว่า เมื่อปี 2523 นายหวัง มัสแหละ ได้นำต้นส้มโอมาจากบ้านบราโอ ตำบลประจัน อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี จำนวน 3 ต้น มาปลูกที่บ้านแสงวิมาน ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง

[metaslider id=618 cssclass=””]

ส้มโอที่นำมาปลูกเป็นส้มโอที่มีลักษณะผลเหมือนส้มโอพันธุ์ขาวพวง มีกุ้งเป็นเนื้อสีชมพูเข้มค่อนข้างแดง ผลมีขนาดใหญ่แต่มีรสขม เมื่อนำมาปลูกที่บ้านแสงวิมาน ตำบลคลองน้อย ปรากฏว่า เมื่อให้ผลผลิตกลับมีรสหวานขึ้น ผิวของส้มโอสีเขียวจัด และมีขนอ่อนนุ่มคล้ายกำมะหยี่คลุมทั่วผล จากนั้นเกษตรกรได้คัดเลือกสายพันธุ์และปรับปรุงคุณภาพเรื่อยมา ซึ่งใช้เวลานานหลายปี ในที่สุดก็ได้ส้มโอที่มีเนื้อสีแดงเข้มเหมือนสีทับทิม รสชาติหอมหวาน เนื้อนุ่มน่ารับประทาน จึงได้มีการตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ว่า “ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม” ซึ่งส้มโอพันธุ์นี้แตกต่างจากส้มโอพันธุ์อื่นอย่างชัดเจน มีลักษณะประจำพันธุ์ที่โดดเด่น คือเนื้อผลหรือที่เรียกว่า กุ้ง มีสีชมพูเข้มจนถึงแดงเหมือนสีทับทิม ผิวผลส้มโอมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมคล้ายกำมะหยี่

นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศวพ. นครศรีธรรมราช ผู้ร่วมคณะศึกษาวิจัยส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เนื่องจากส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามเป็นส้มโอสายพันธุ์ใหม่ มีความเฉพาะเจาะจงกับสภาพพื้นที่ จึงปลูกกันไม่แพร่หลาย ปัจจุบันพบว่าส้มโอพันธุ์นี้เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง และจำหน่ายได้ในราคาสูง ราคาจากในสวนเฉลี่ยแล้ว ผลละ 100-300 บาท ทำให้เกษตรกรเริ่มขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

ผลิตส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม อย่างมีคุณภาพ

ทาง ศวพ. นครศรีธรรมราช ได้เข้าไปตรวจเยี่ยมสวนส้มโอของเกษตรกรและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามอย่างครบวงจร พบว่าเกษตรกรยังขาดความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตอย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งในเรื่องการจัดการสวน การป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีผลทำให้ปริมาณและคุณภาพผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร

จากการเข้าไปศึกษาพื้นที่ปลูกพบว่า เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มมีการทำนาข้าวมาก่อน มีระดับน้ำใต้ดินสูง ดินเหนียวจัด มีน้ำกร่อยท่วมขังทุกปี ประกอบกับพื้นที่หมู่บ้านแสงวิมานนิยมปลูกส้มโอพันธุ์ทองดีและได้ผลดี ต่อมาเมื่อมีการนำส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามมาปลูกได้ผลดี รสชาติอร่อย มีราคาสูง เกษตรกรจึงหันมาปลูกส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามกันมากขึ้น

[metaslider id=894 cssclass=””]

เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดปี PomeloTubtimSiam

เนื่องจากการปลูกส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม เกษตรกรนิยมปลูกด้วยกิ่งตอนซึ่งไม่มีรากแก้ว รากจะแผ่กว้างและไม่หยั่งลึกมากนัก สร้างรากที่ทำหน้าที่ดูดอาหารสำคัญใกล้ระดับผิวดิน มีการเจริญเติบโตทางลำต้นเกือบตลอดปี ไม่มีระยะพักตัวที่ยาวนานและไม่มีการผลัดใบ และในแหล่งปลูกมีการกระจายตัวของฝนหลายเดือน ทำให้การแตกยอดอ่อนของส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามเกิดขึ้นหลายครั้ง และการออกดอกเกิดขึ้นพร้อมกับการแตกยอดอ่อน

ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามจะมีการแตกยอดอ่อนและออกดอกหลายครั้งในรอบปี เนื่องจากการพัฒนาระยะต่างๆ ของส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามจะเหลื่อมซ้อนกัน ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดปี แต่จะมีช่วงที่ออกดอกพร้อมกันจำนวนมากอยู่ 2 รุ่น รุ่นที่หนึ่งจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และจะให้ผลผลิตที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน และจะออกดอกรุ่นที่สองประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน จะไปเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณปลายเดือนมีนาคม-เมษายน ปริมาณการออกดอกแต่ละครั้งอาจจะแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจัดการสวนและปัจจัยสภาพภูมิอากาศ ในขณะเดียวกันโรค แมลง และไรศัตรูพืช มีการระบาดและเข้าทำลายต้นส้มโอทุกระยะการเจริญเติบโตและต่อเนื่องตลอดปี ทำให้ส้มโอที่ได้มีปริมาณและคุณภาพไม่ตรงตามความต้องการผลผลิตที่ได้ไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ในการจัดสวนด้านต่างๆ

สร้างเกษตรกรต้นแบบ ตัวอย่างเรียนรู้ของเกษตรกร

จากปัญหาดังกล่าว ทาง ศวพ. นครศรีธรรมราช จึงเข้าไปดำเนินการให้ความรู้และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามให้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่องและต่อยอดงานวิจัยเรื่อยมา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553-จนถึงปัจจุบัน และสามารถสร้างเกษตรกรและแปลงต้นแบบการผลิตส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามคุณภาพ ซึ่งเกษตรกรและผู้สนใจสามารถเข้ามาศึกษาดูงานได้

ใช้เทคโนโลยี จัดการสวนส้มโอสู่ปากพนัง

การเตรียมพื้นที่ปลูกส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามในที่ลุ่ม โดยขุดร่องสวนเว้นร่องน้ำ กว้าง 2 เมตร ลึก 1 เมตร ใช้ระบบ 1 แถว ต่อ 1 ร่องระบายน้ำ หรือ 2 แถว ต่อ 1 ร่องระบายน้ำ ระยะปลูก 8×6 เมตร

การจัดการธาตุอาหารตามความเหมาะสมกับการพัฒนาการของส้มโอ โดยการใส่ปุ๋ยคอก ประมาณ 10 กิโลกรัม ผสมกับปุ๋ยหินฟอสเฟต อัตรา 300-500 กรัม รองก้นหลุมก่อนปลูก เมื่อต้นส้มอายุ 1 ปี ให้ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0+15-15-15 อัตรา 1:1 ครึ่งกิโลกรัม ต่อต้น แบ่งใส่ 4 เดือน ต่อครั้ง และใส่ปุ๋ยเคมีสูตรดังกล่าว อัตรา 1 และ 2 กิโลกรัม ต่อต้น เมื่อต้นส้มอายุ 2-3 ปี ตามลำดับ

การจัดการเกี่ยวกับความสะอาดของสวนส้ม เช่น เก็บผลส้มที่ร่วงหล่นใต้ต้นทิ้ง เผาทำลายกิ่งและผลที่เป็นโรค

ให้เกษตรกรทำบันทึกข้อมูลการปฏิบัติงานการเก็บเข้าทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืช ตลอดจนบันทึกข้อมูลการเจริญเติบโตของลำต้น ได้แก่ ความสูง และรัศมีทรงพุ่ม เป็นต้น

ทำไม ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม ราคาแพง

เดิมขณะยังไม่มีการพัฒนาสวนส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม ราคาขายของส้มโอพันธุ์นี้อยู่ที่ 80-150 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว เนื่องจากผลผลิตมีรสชาติดี เป็นที่ต้องการของตลาด และยังมีปริมาณไม่มากนัก คุณวิริยา บอกว่า หลังจากที่ ศวพ. นครศรีธรรมราช เข้าไปแนะนำให้ความรู้แก่เกษตรกร เกษตรกรชาวสวนมีความรู้ ความเข้าใจ การจัดการสวนอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทำให้ผลผลิตที่ได้ต่อต้นสูง และมีคุณภาพดีขึ้น ราคาขายส่งจากสวนเพิ่มขึ้น อยู่ที่ผลละ 150-300 บาท ราคาขายปลีกอยู่ที่ ผลละ 300-500 บาท ซึ่งเกษตรกรเป็นผู้กำหนดราคาเอง และเมื่อวางจำหน่ายที่ตลาด อ.ต.ก. กรุงเทพฯ ราคาก็สูงขึ้นเป็นเท่าตัว และทราบว่าราคาขายอยู่ที่ ผลละ 700-800 บาท

คุณฐปนีย์ ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามที่ราคาสูงขึ้นว่า เมื่อช่วงเดือนธันวาคม ปี 2559 ถึงเดือนมกราคม 2560 มีฝนตกหนักต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะแหล่งปลูกส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม รวมพื้นที่น้ำท่วมขัง 37,742 ไร่ ส่งผลกระทบในสวนส้มโอของเกษตรกรได้รับความเสียหาย ประจวบกับเป็นช่วงเวลาที่ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามให้ผลผลิตน้อย จึงทำให้ผลผลิตส้มโอออกสู่ตลาดมีปริมาณน้อยลง นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ส้มโอพันธุ์นี้มีราคาค่อนข้างสูง

เร่งฟื้นฟูสวนส้มโอ พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

“จากการสำรวจประเมินแปลงปลูกส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามของเกษตรกร 421 ราย พบว่าต้นส้มโอที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี มีเปอร์เซ็นต์ตายสูงที่สุด รองลงมาคือ ต้นส้มอายุระหว่าง 1-2 ปี ส่วนต้นส้มอายุ 3 ปีขึ้นไป ซึ่งเริ่มให้ผลผลิตมีเปอร์เซ็นต์ต้นตายต่ำที่สุด”

4289

6395

คุณฐปนีย์ กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร ได้สั่งการให้ ศวพ. นครศรีธรรมราช เร่งฟื้นฟูส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยดังกล่าวในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่ง ศวพ. นครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการแล้ว ขณะเดียวกันก็เร่งผลิตและขยายพันธุ์ต้นกล้าส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามคุณภาพดีสำหรับช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย พร้อมกับสร้างแปลงต้นแบบเพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ในการฟื้นฟูสวนส้มโอหลังน้ำลด

ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม ขึ้นทะเบียนเป็นพืช GI PomeloTubtimSiam

จากการสำรวจและวิเคราะห์พื้นที่แหล่งปลูกสำคัญของส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามในจังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในตำบลคลองน้อย ตำบลเกาะทวด และตำบลคลองกระบือ อำเภอปากพนัง และจากการวิเคราะห์พบว่ามีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน คือมีสภาพอากาศร้อนชื้น ดินที่ปลูกเป็นดินชุดบางกอก เนื้อดินเป็นดินเหนียว การระบายน้ำเลว ฤดูฝนน้ำขังลึก 20-50 เซนติเมตร นาน 1 เดือน หน้าแล้งดินแห้งแตกระแหง เป็นร่องกว้างลึก มีเปลือกหอยอยู่บริเวณดินชั้นล่าง ดินมีความเป็นกรด-ด่าง เท่ากับ 6.99-7.96 มีอินทรียวัตถุปานกลางถึงสูง และมีความเค็มต่ำ ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่แบบเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คำถามจากผู้ที่อยากจะนำต้นส้มโอพันธุ์นี้ไปปลูกพื้นที่อื่น รสชาติจะเหมือนกับส้มโอทับทิมสยามที่ปากพนังหรือไม่ ถ้าพื้นที่ที่จะปลูกมีลักษณะดินเป็นดินชุดบางกอก และมีการจัดการที่ดีถูกต้องและเหมาะสมก็อาจทำให้คุณภาพและรสชาติใกล้เคียงกันได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะบอกว่ารสชาติไม่เหมือนกันกับส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามที่ปากพนัง ถึงแม้จะมีรสหวาน แต่สีของเนื้อกุ้งไม่เหมือนกัน

“เชื่อว่าปัจจัยหรือองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม อำเภอปากพนัง มีรสชาติหวานอร่อยกว่าส้มโอทับทิมสยามที่นำไปปลูกที่อื่น ก็คือ สภาพดิน ภูมิอากาศ และสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนใคร”

ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรชาวสวนส้มปากพนังจึงได้ขึ้นทะเบียนส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามปากพนังเป็นพืช GI ของเกษตรกรชาวปากพนัง และในงาน “เกษตรมหัศจรรย์ 2560 พืชกินได้ ไม้ขายดี” ซึ่งนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 7-10 กันยายน 2560 ที่ห้องสกายฮอลล์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ก็จะมีส้มโอทับทิมสยามมาจัดแสดงให้ได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด

สนใจขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช เลขที่ 339 หมู่ที่ 5 ตำบลหลักช้าง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช โทรศัพท์ (075) 809-709